• หน้าแรก
  • รวมรูปภาพ
  • คำขวัญวันเด็ก
  • คำขวัญ ๗๗ จังหวัด
  • เสียงธรรมคีตะ
  • สมุดเยี่ยม
  • ติดต่อเรา
ทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ทุกวัน
ประเพณีเทศน์มหาชาติ
            ประเพณีการเทศน์มหาชาติจัดเป็นการทำบุญที่สำคัญและมีความหมายมากที่สุดในสังคมไทยเนื่องจาก
เป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่ทำสืบเนื่องมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันเพราะความเชื่อว่าถ้าผู้ใด
ได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วจะได้กุศลแรง และหากใครตั้งใจฟังให้จบในวันเดียวจะได้เกิดร่วมและพบ
พระศรีอริยเมตตรัยโพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
                   สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงโปรดฯให้ประชุมสงฆ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลและแต่ง
มหาชาติคำหลวงขึ้นเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ.๒๐๒๕ สำหรับสวดในพระราชพิธีเข้าพรรษาและสวด
ให้อุบาสกอุบาสิกาฟังระหว่างพรรษา
                   เรื่องราวของมหาชาติชาดกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพุทธศาสนิกชน เพราะถือว่าเป็นตอนที่พระ
พุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีครบ๑๐ ประการ 
ก่อนจะทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยทานบารมีชั้นสุดยอดที่ยากยิ่งจึงเรียกว่า มหาชาติ
            ความนิยมและความสำคัญของเรื่องมหาชาติชาดก ปรากฏให้เห็นได้จากวรรณกรรมที่แต่งขึ้นมากมาย
ทั้งต่างสำนวนและต่างยุคสมัย เฉพาะที่เป็นฉบับหลวงก็มีมากมายในลักษณะของรูปแบบคำประพันธ์ต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีมหาชาติฉบับท้องถิ่นต่างๆ อีก เช่น ทางภาคเหนือมีมหาชาติภาคพายัพเขียนเป็นภาษาล้าน
นามีหลายฉบับและหลาย สำนวน ทางภาคอีสานมีมหาชาติคำเฉียง ส่วนทางภาคใต้มีมหาชาติชาดก
ฉบับวัดมัชฌิมาวาสสงขลาเป็นต้น และยังมีมหาชาติสำนวนต่างๆ อีกมากมายที่แต่งกันเองโดยอิสระ
กระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติจึงปรากฏในสังคมไทยทุกภูมิภาคทั้งในราชสำนัก
และในหมู่ประชาชนทั่วไป

               ในราชสำนัก ปรากฏเป็นพระราชพิธีในวังหลวงมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์ถึง
กับทรงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งทรงธรรม ด้วยพระราชประสงค์ให้เป็นที่ทรงธรรมในงานพระราชพิธีเทศน์มหาชาติ
พระราชพิธีนี้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนาคราวหนึ่ง แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธ
เลิศหล้านภาลัย ครั้งที่ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศก็ทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรี จนกลายเป็นธรรมเนียมให้พระราช
โอรสถวายเทศน์มหาชาติในวังหลวง
            ในท้องถิ่น โดยเฉพาะในเขตภาคอีสานถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุดของปี จะจัดขึ้นในราวเดือน ๔
เรียกว่า บุญพระเวส ทั้งยังมีประเพณีเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลนี้ด้วย เช่น พิธีแห่พระเวสเข้าเมืองและพิธีแห่ข้าว
พันก้อนเพื่อบูชาคาถาพัน ทางภาคเหนือก็ให้ความสำคัญกับการเทศน์มหาชาติมาก เห็นได้จากมีประเพณีสร้าง
หลาบเงินหรือแผ่นเงินแกะลาย แขวนห้อยรอบฉัตร ถวายเป็นเครื่องขันธ์ตั้งธรรมหลวงในงานบุญเทศน์มหาชาติ
แผ่นเงินเหล่านี้จะจำหลักเป็นรูป ลวดลายต่างๆ ส่วนทางภาคใต้นั้นประเพณีเทศน์มหาชาติได้คลี่คลายไปเป็น
ประเพณีสวดด้านซึ่งคล้ายคลึงกับการสวดโอ้เอ้วิหารรายอย่างกรุงเทพฯ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
             จะเห็นว่าประเพณีเทศน์มหาชาติที่เป็นประเพณีหลวง ได้ส่งผลกระทบต่อประเพณีราษฎร์อย่างกว้างขวาง
แต่ท้องถิ่นได้พัฒนารูปแบบการเทศน์และประเพณีต่างๆ ให้แตกต่างไป เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมเนียมท้องถิ่น
ที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาค ในภาคกลางจะคงลักษณะสำคัญของประเพณีหลวงไว้มาก เช่น ในการเทศน์มัก
จะมีปี่พาทย์ประโคมขณะดำเนินพิธีตามแบบของหลวงด้วย เชื่อว่าเป็นการเสริมศรัทธาให้เกิดความปีติในผลบุญที่
ได้บำเพ็ญ กับทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้ที่ได้ยินเสียงปี่พาทย์ได้ทราบว่ากำลังมีพิธีเทศน์มหาชาติอยู่  ผู้ใดรับกัณฑ์
เทศน์ใดไว้จะได้ตระเตรียมตัวได้ทัน ปี่พาทย์ในงานเทศน์มหาชาติจะเริ่มด้วยเพลงโหมโรงและกำหนดเพลงปี่พาทย์
ประจำกัณฑ์ไว้ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ตามแบบหลวงที่มีความศักดิ์สิทธิ์และถือเป็นเพลงชั้นสูงทั้งสิ้นเช่นกัณฑ์ทศพร
ใช้เพลงสาธุการ กัณฑ์หิมพานต์ใช้เพลงตวงพระธาตุ เป็นต้นการเทศน์มหาชาติในส่วนที่เป็นประเพณีราษฎร์
นอกจากจะรักษาขนบแบบราชสำนักที่เน้น
            ความศักดิ์สิทธิ์แล้ว   ยังแฝงด้วยความสนุกสนานและการละเล่นแทรกอยู่ด้วย เช่น
พระที่เทศน์มหาชาติกัณฑ์ต่างๆ อาจว่าแหล่เพื่อให้ผู้ฟังได้รสยิ่งขึ้น แหล่ต่างๆ   ที่มีประจำกัณฑ์ที่เรียกว่าแหล่นอกนี้จะ
แต่งเป็นพิเศษนอกเนื้อเรื่องพระเวสสันดรก็ได้ หรือชาวบ้านในบางท้องที่แถบภาคกลางจะมีการเล่นมหาชาติทรง
เครื่องเวลามีพิธีเทศน์มหาชาติ ซึ่งชาวบ้านจะรับมาจากวัดและไปเล่นกันเอง ต่อมาชาวบ้านกลับไปชวนพระ
มาเล่นด้วยกัน จึงเป็นการเล่นระหว่างแม่เพลงที่มีเสียงดีที่มักรับบทเป็นพระนางผุสดี หรือ พระ-นางมัทรี
กับพระที่มักจะรับบทพระเวสสันดรและชูชก เป็นต้น
          จะเห็นได้ว่าคติธรรมต่อการดำเนินชีวิตตามหลักพุทธศาสนา โดยเฉพาะคติของการทำบุญให้ทาน
การกลับชาติมาเกิดของพระโพธิสัตว์คือพระเวสสันดร ความเชื่อเรื่องบุญ-กรรมอยู่ในสำนึกของชาวไทยทั้งสังคม ด้วยอิทธิพลของมหา ชาติชาดกที่มีบทบาทอย่างสูงในการสร้างบูรณาการทางศาสนาให้เกิดขึ้นต่อชาวไทยทุกภูมิ
ภาคมาเป็นเวลาช้านานแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งต่อกระบวนการเชื่อมต่อประเพณีหลวงสู่ประเพณีราษฎร์
ทำให้เกิดความกลมกลืนในทางวัฒนธรรมที่มีพระพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์แห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันท่ามกลาง
คติความเชื่อในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน